เรียกได้ว่า เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ที่เต็มอิ่มไปด้วยสาระ ความรู้ และความสนุกสนานในทุกช่วงกิจกรรม นับตั้งแต่พิธีเปิดโครงการที่ได้รับการกล่าวต้อนรับอย่างอบอุ่น โดย อ.อนุสนธ์ ชวนประสิทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคุณศราวุธ เจนถนอมม้า ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้สีคิ้ว บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) จ.นครราชสีมา ถือได้ว่าเป็นเจ้าบ้านที่ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับอย่างเป็นกันเอง จากนั้นจึงต่อด้วยการแนะนำบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) รวมถึงให้ข้อมูลขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนเข้าฟาร์ม และระบบป้องกันโรค Biosecurity ของฟาร์มไก่ โดยคุณนนทชัย ปานโคก ผู้ชำนาญการด้านออกแบบและพัฒนาหลักสูตรจากศูนย์การเรียนรู้สีคิ้ว ส่วนระบบป้องกันโรค Biosecurity ของฟาร์มสุกรนั้นให้ข้อมูล โดยคุณอรรถพล จักษุวัชร สัตวแพทย์บริการวิชาการ ธุรกิจสุกร CPF ก่อนปิดท้ายกิจกรรมวันแรกไปกับสันทนาการสุดมันส์ จากสำนักแนะแนวและรับสมัคร พร้อมๆกับกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์สุดคึกคัก
เช้าวันที่ 2 ของการจัดค่ายกิจกรรม ยังมีไฮไลท์สำคัญที่ผู้ร่วมโครการจะได้เข้าไปทดลองใช้ชีวิตในฟาร์มสัตว์เป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องแบ่งกลุ่มเข้าทั้งฟาร์มไก่ และฟาร์มสุกร เพื่อเข้าไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ภาคปฏิบัติจากภายในฟาร์มให้ได้มากที่สุด ส่วนในช่วงบ่ายยังคงเน้นย้ำ ภาคทฤษฎีด้านสุกร ซึ่งในครั้งนี้ อ.ดร.ถิรนันท์ ศรีกัญชัย คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ท่านได้สละเวลามาให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมโครงการด้วยตัวเอง ส่วนทฤษฎีด้านไก่นั้น คุณศราวุธ เจนถนอมม้า ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้สีคิ้ว นอกจากมากล่าวต้อนรับแล้วยังมาให้ความรู้กับผู้ร่วมโครงการอีกด้วย ส่วนในช่วงเย็นเป็นกิจกรรมถอดบทเรียน โดยการต่อยอดความรู้ที่ได้รับ ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการแสดงละคร หัวข้อ “ฟาร์มในฝันของฉัน” และแยกย้ายพักผ่อนตามอัธยาศัย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่กิจกรรมเชิงวิชาการในวันรุ่งขึ้น
ส่งท้ายกิจกรรมค่ายในวันสุดท้าย เริ่มด้วยทำแบบทดสอบวัดพื้นฐานความรู้ (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ) กันก่อน หลังจากเครียดกับการทำแบบทดสอบไปแล้วจึงมีกิจกรรมสันทนาการเล็กน้อย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการผ่อนคลาย เพิ่มความตื่นตัว และลดความตื่นเต้นในกิจกรรม Workshop พร้อมนำเสนอผลงาน “นักจัดการเทคโนโลยีฟาร์มมืออาชีพ” ที่ให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันระดมความคิด รวบรวมความรู้ที่ได้รับตลอด 2 วันที่ผ่านมา นำเสนอต่อ คณาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะเฟ้นหากลุ่มผู้ชนะ และได้รับของที่ระลึกจาก PIM และท้ายที่สุด อ.ดร.ถิรนันท์ ศรีกัญชัย คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร กล่าวปิดโครงการอย่างอิ่มเอมใจ และเดินทางกลับ PIM โดยสวัสดิภาพ